ตำนานเมืองลับแล (ผีบังบด เมืองลี้ลับที่ถูกซ่อนเร้น)
เรื่องลี้ลับเล่าขานของตำนานพื้นบ้าน มีมาแต่อดีตเรื่องราวเก่าแก่ที่เล่ากันสืบทอดต่อกันมา "อำเภอลับแล หรือ เมืองลับแล" เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย1 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2444 ความเป็นมาของคำว่า “ลับแล” นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
(การแต่งกายของชาวลับแลในสมัยรัชกาลที่ 5 จากตำนานหลักฐานจึงทำให้ทราบว่ากลุ่มชนส่วนใหญ่ที่มา
อยู่ในบริเวณเมืองลับแลในปัจจุบันนั้นอพยพมาจากอาณาจักรเชียงแสนโบราณ (โยนกนาคพันธุ์) )
ว่าเดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หลบซ่อนตัวง่ายและ ภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย อำเภอลับแลนอกจากจะมีโบราณสถานที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองล้านนา เช่น ผ้าตีนจก ไม้กวาด เป็นแหล่งปลูกลางสาด และทุเรียนหลง-หลินลับแล ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด หลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เดิมเคยเป็นเมืองใหญ่ที่เป็นชุมชนของพวกละว้าและขอม มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน เพราะได้มีการขุดพบกลองมโหระทึกและพร้าสําริด ได้ในบริเวณดังกล่าว เมื่ออาณาจักรขอมล่มสลายลง คนไทยก็ได้เข้ามาครอบครอง
(สมุดไทยบัญชีถือสังกัดมูลนายประจำแขวงเมืองลับแล ในสมัยรัชกาลที่ 4)
เมืองลับแลนั้นเป็นอำเภอเล็กๆ การเดินทางไปมาไม่สะดวก เส้นทางคดเคี้ยว ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย จนได้ชื่อว่าเมืองลับแล ซึ่งแปลว่า มองไม่เห็น มีเรื่องเล่ากันว่าคนมีบุญเท่านั้นจึงจะได้เข้าไปถึงเมืองลับแล ตำนานนี้เล่ากันสืบมาว่า..... ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่ง (น่าจะเป็นคนเมืองทุ่งยั้ง) เข้าไปในป่า ได้เห็นหญิงสาวสวยหลายคนเดินออกมา ครั้นมาถึงชายป่า นางเหล่านั้นก็เอาใบไม้ที่ถือมาไปซ่อนไว้ในที่ต่างๆ แล้วก็เข้าไปในเมือง ด้วยความสงสัยชายหนุ่มจึงแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ใบหนึ่ง ตกบ่ายหญิงสาวเหล่านั้นกลับมา ต่างก็หาใบไม้ที่ตนซ่อนไว้ ครั้นได้แล้วก็ถือใบไม้นั้นเดินหายลับไป
( ประตูสัญลักษณ์อำเภอลับแล หลังจากผ่านเหตุการณ์โคลนถล่มเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 )
มีหญิงสาวคนหนึ่งหาใบไม้ไม่พบ เพราะชายหนุ่มแอบหยิบมา นางวิตกเดือดร้อนมาก ชายหนุ่มจึงปรากฏตัวให้เห็นและคืนใบไม้ให้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ ขอติดตามนางไปด้วยเพราะปรารถนาจะได้เห็นเมืองลับแล หญิงสาวก็ยินยอม นางจึงพาชายหนุ่มเข้าไปยังเมืองซึ่งชายหนุ่มสังเกตเห็นว่าทั้งเมืองมีแต่ผู้หญิง นางอธิบายว่าคนในหมู่บ้านล้วนมี ศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป ผู้ชายส่วนมากมักไม่รักษาวาจาสัตย์จึงต้องออกจากหมู่บ้านกันไปหมด แล้วนางก็พาชายหนุ่มไปพบมารดาของนาง ชายหนุ่มเกิดความรักใคร่ในตัวนางจึงขออาศัยอยู่ด้วย มารดาของหญิงสาวก็ยินยอม แต่ให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรม ไม่พูดเท็จ ชายหนุ่มได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวลับแลจนมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน
(ประติมากรรมแม่ม่ายเมืองลับแล บริเวณประตูเมืองลับแล (ใหม่)
แสดงถึงตำนานเล่าขานของเมืองลับแลอันเป็นที่เลื่องลือมาช้านาน)
วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ชายหนุ่มผู้พ่อเลี้ยงบุตรอยู่ บุตรน้อยเกิดร้องไห้หาแม่ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบว่า "แม่มาแล้วๆ" มารดาของภรรยาได้ยินเข้าก็โกรธมากที่บุตรเขยพูดเท็จ เมื่อบุตรสาวกลับมาก็บอกให้รู้เรื่อง ฝ่ายภรรยาของชายหนุ่มเสียใจมากที่สามีไม่รักษาวาจาสัตย์ นางบอกให้เขาออกจากหมู่บ้านไปเสีย แล้วนางก็จัดหาย่ามใส่เสบียงอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้สามี พร้อมทั้งขุดหัวขมิ้นใส่ลงไปด้วยเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็พาสามีไปยังชายป่า ชี้ทางให้ แล้วนางก็กลับไปเมืองลับแล
ชายหนุ่มไม่รู้จะทำอย่างไรก็จำต้องเดินทางกลับบ้านตามที่ภรรยาชี้ทางให้ ระหว่างทางที่เดินไปนั้น เขามีความรู้สึกว่าถุงย่ามที่ถือมาหนักขึ้นเรื่อยๆ และหนทางก็ไกลมาก จึงหยิบเอาขมิ้นที่ภรรยาใส่มาให้ทิ้งเสียจนเกือบหมด ครั้นเดินทางกลับไปถึงหมู่บ้านเดิม บรรดาญาติมิตรต่างก็ซักถามว่าหายไปอยู่ที่ไหนมาเป็นเวลานาน ชายหนุ่มจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียด รวมทั้งเรื่องขมิ้นที่ภรรยาใส่ย่ามมาให้แต่เขาทิ้งไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียงแง่งเดียว พร้อมทั้งหยิบขมิ้นที่เหลืออยู่ออกมา ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำทั้งแท่ง
ชายหนุ่มรู้สึกแปลกใจและเสียดาย จึงพยายามย้อนไปเพื่อหาขมิ้นที่ทิ้งไว้ ปรากฏว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไปหมดแล้ว และเมื่อขุดดุก็พบแต่แง่งขมิ้นธรรมดาที่มีสีเหลืองทอง แต่ไม่ใช่ทองเหมือนแง่งที่เขาได้ไป เขาพยายามหาทางกลับไปเมืองลับแล แต่ก็หลงทางวกวนไปไม่ถูก จนในที่สุดก็ต้องละความพยายามกลับไปอยู่หมู่บ้านของตนตามเดิม
(อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ คนดีเมืองลับแล บริเวณตัวเมืองลับแล)
เมืองลับแลเดิมนั้นสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนในสมัยสุโขทัยก่อนจะร้างลงในช่วงหลัง ดังการพบหลักฐานปฐมภูมิ คือศิลาจารึกซึ่งขุดได้ที่หน้าวิหารวัดเจดีย์คีรีวิหาร มหาอำมาตย์ตรี พระยานครพระราม ส่งเข้าหอสมุดวชิรญาณ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2473 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ความเห็นว่าเนื้อหาจารึกน่าจะกล่าวตั้งแต่ครั้งเมื่อพระยาลิไทยขึ้นเสวยราชย์
ประกอบกับเนื้อหาในศิลาจารึก การสถาปนาพระบรมธาตุโดยพระยาลิไทย สอดคล้องกับลักษณะของฐานพระเจดีย์วัดเจดีย์คีรีวิหาร ที่มีเค้าโครงของฐานเขียงสามชั้นแบบสุโขทัย ศิลาจารึกดังกล่าวจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าที่ตั้งเมืองลับแลในปัจจุบัน เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ก่อนจะถูกทิ้งร้างและมีการอพยพเทครัวชาวเชียงแสนมาตั้งรกรากเพิ่มเติมในช่วงหลัง
ที่มา http://horoscope.sanook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น